“ขนส่งทางบก” เตรียม ปรับมาตรฐาน สอบใบขับขี่ใหม่ บนถนนจริง พร้อมยกระดับ 7 ด้าน
- ยกมาตรฐานสอบใบขับขี่ใหม่ 7 ด้าน
- โดยมีครูนั่งไปด้วยภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งครูจะให้คะแนนว่า ผู้ขับขี่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายและหลักการขับรถที่ปลอดภัยได้หรือไม่ ถ้าไม่ผ่าน ก็ต้องไปทดสอบใหม่ตั้งแต่ต้น โดยต่างประเทศก็ใช้วิธีนี้ในการออกใบขับขี่
- ผู้มาขอรับใบอนุญาตต้องผ่านหลักสูตรปฐมพยาบาลและการปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงปรับปรุงเนื้อหาภาคทฤษฎีให้เป็นเชิงวิเคราะห์มากขึ้น คล้ายกับต้นแบบจากประเทศเยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์
- เปิดให้เอกชนจัดตั้งศูนย์การทดสอบสำหรับขอรับใบขับขี่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ไม่ต้องมาแออัดในการขอสอบ
- การตัดแต้ม ถ้าตัดแต้มหมดก็จะโดนพักใช้ใบอนุญาต 1 ปี และต้องกลับมาทดสอบขอรับใบขับขี่ใหม่ตั้งแต่ต้น แต่หากถูกตัดคะแนนหมดเป็นครั้งที่ 2 ก็จะไม่มีสิทธิ์ขับรถอีกตลอดชีวิต
- ช้าสุดปี 2565 เร็วสุดปี 2564 บางเรื่องเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีนี้ เช่น การปรับปรุงหลักสูตรต่างๆ แต่ปี 2564 จะเห็นการตัดคะแนนแน่นอน” นายศักดิ์สยาม กล่าว
เมื่อวันที่ 15 เม.ย. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังหารือกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ว่า กรมการขนส่งทางบกได้สรุปแนวทางการยกระดับการออกใบอนุญาตขับขี่ประเภทต่างๆ ใน 7 ด้าน เพื่อให้ผู้ขับขี่เกิดระเบียบวินัยและมีความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนมากขึ้น โดยแนวทางการยกระดับ 7 ด้าน ได้แก่
1. การกำหนดสภาวะโรค
- ต่อไปนี้จะยกระดับการออกใบรับรองแพทย์ ด้วยการให้ผู้ขอรับใบขับขี่เข้าตรวจโรคจากแพทยสภาให้เป็นมาตรการ ผู้ที่จะมาขอใบอนุญาตต้องไม่มีโรคต้องห้าม โดยเบื้องต้นคงดำเนินการตรวจแบบธรรมดาไปก่อน แต่ต่อไปจะพัฒนาการตรวจผ่านแอพพลิเคชั่นออนไลน์ หรือการตรวจระยะไกล เพื่อให้แพทย์สามารถออกใบรับรอง (Fit for Drive) ได้
2. ทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย
- กรมการขนส่งทางบกจะร่วมกับหน่วยงานเวชศาสตร์การจราจร กำหนดรูปแบบ วิธีการ ในการประเมินสมรรถภาพทางร่างกายของผู้ขอรับใบอนุญาต
3.การอบรมและทดสอบความรู้ภาคทฤษฎี
- จะต้องปรับปรุงเนื้อหาให้สอดคล้องกับการขอรับใบอนุญาต มีการจัดทำหลักสูตรออนไลน์ (e-Learning) ให้ศึกษาก่อนที่จะมาสอบ นอกจากนี้ จะกำหนดให้ผู้มาขอรับใบอนุญาตต้องผ่านหลักสูตรปฐมพยาบาลและการปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงปรับปรุงเนื้อหาภาคทฤษฎีให้เป็นเชิงวิเคราะห์มากขึ้น คล้ายกับต้นแบบจากประเทศเยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์
4.การอบรมและทดสอบขับรถภาคปฏิบัติ
- จะจัดทำคู่มือฝึกหัดขับรถแบบ e-Learning ให้ศึกษาก่อน จากนั้นจะพัฒนาไปสู่การทดสอบบนถนนจริง โดยมีครูนั่งไปด้วยภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งครูจะให้คะแนนว่า ผู้ขับขี่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายและหลักการขับรถที่ปลอดภัยได้หรือไม่ ถ้าไม่ผ่าน ก็ต้องไปทดสอบใหม่ตั้งแต่ต้น โดยต่างประเทศก็ใช้วิธีนี้ในการออกใบขับขี่
5.ปรับปรุงการบริหารจัดการ กรมการขนส่งทางบก
- จะเปิดให้เอกชนจัดตั้งศูนย์การทดสอบสำหรับขอรับใบขับขี่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ไม่ต้องมาแออัดในการขอสอบ โดยเอกชนที่จะมาขอจัดตั้งศูนย์ทดสอบฯ ต้องมีกำหนดคุณสมบัติเกี่ยวข้องกับรถประเภทต่างๆ ตามที่กำหนด
6.ปรับปรุงรูปแบบใบอนุญาตขับรถให้มีความเป็นสากล
- เพื่อให้ใบอนุญาตขับรถของประเทศไทย สามารถนำไปใช้ในประเทศสมาชิกของอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยการจราจรทางถนน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นได้ในปี 2564
7.การควบคุมพฤติกรรมการขับรถด้วยการตัดแต้ม
- เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยต้องประชุมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อบูรณาการกฎหมายขนส่งและกฎหมายจราจร เพื่อกำหนดโทษในการหักคะแนน พักใบอนุญาต ถ้าตัดแต้มหมดก็จะโดนพักใช้ใบอนุญาต 1 ปี และต้องกลับมาทดสอบขอรับใบขับขี่ใหม่ตั้งแต่ต้น แต่หากถูกตัดคะแนนหมดเป็นครั้งที่ 2 ก็จะไม่มีสิทธิ์ขับรถอีกตลอดชีวิต เพราะแสดงว่าไม่มีความเข้าในการใช้ใบขับขี่ ใบอนุญาตไม่ถูกต้องก็จะสร้างอันตรายให้ผู้ใช้รถใช้แทน
“ตอนนี้ไทม์ไลน์ชัดเจน ต้องดำเนินการทั้งหมดให้เรียบร้อย ช้าสุดปี 2565 เร็วสุดปี 2564 บางเรื่องเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีนี้ เช่น การปรับปรุงหลักสูตรต่างๆ แต่ปี 2564 จะเห็นการตัดคะแนนแน่นอน” นายศักดิ์สยาม กล่าว
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างแก้ไข พ.ร.บ.รถยนต์ จำนวน 1 มาตรา เพื่อให้ประชาชนใช้แอพพลิเคชั่นเรียกบริการรถยนต์และรถจักรยานยนต์ได้ เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเสนอเข้ารัฐสภาพในเดือนพฤษภาคม 2563 และประกาศใช้ได้ในปลายปีนี้
ด้านการออกป้ายทะเบียนพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) นั้น เบื้องต้นกำหนดรูปเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างร่างกฎกระทรวง คาดว่าจะเสนอให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในสัปดาห์หน้า โดยป้ายดังกล่าวจะมีราคาประมาณ 1 ล้านบาทต่อแผ่น บริษัท ห้างร้าน หรือผู้มีฐานะดีสามารถมาดำเนินการขอใช้ได้ แต่ข้อความบนแผ่นป้ายต้องไม่ทำให้เกิดการตีความไปในทางเสื่อมเสีย