‘มอเตอร์เวย์’ บางปะอิน-โคราช รื้อใหม่ 17 สัญญา รุกป่าสงวน
แทนที่เราจะได้ใช้เส้นทาง มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา ช่วงปลายปี 2563 หรือช่วงปีใหม่ แต่ต้องรอกันไปยาวๆ เมื่อ เส้นทางบางช่วง ต้องรื้อปรับแก้ใหม่ เนื่องจาก รุกล้ำอยู่ในเขตป่าสงวน ส่งผลให้ต้องเปิดมอเตอร์เวย์เส้นนี้ถึงปี 2566
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย รองอธิบดีกรมทางหลวงฝ่ายดำเนินงานกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยกับ ว่า ความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร (กม.) 93.28 % ขณะนี้พบว่า บางช่วงต้องปรับแบบใหม่กว่า 10 สัญญา เนื่องจากติดปัญหาแนวเส้นทางผ่านป่าสงวน ในเขตท้องที่จังหวัดนครราชสีมา
หลังผู้รับเหมาเข้าพื้นที่สำรวจ เช่น สัญญาที่ 11 อยู่ในบริเวณป่าเขา ต้องเปลี่ยนรูปแบบจากถนนบนพื้นราบ ปรับเปลี่ยนเป็นสะพานยกระดับแทน ขณะเดียวกันที่ผ่านมาสภาพพื้นที่บางเส้นทางบริเวณทางเท้าได้มีการวางแผนแล้ว แต่กลับพบว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นหินทั้งหมด จำเป็นต้องระเบิดหินแทน ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแบบ รวมทั้งแนวเส้นทางเวนคืนที่ดิน ที่มีการดำเนินการไว้ช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถเวนคืนได้
“หลังจากผู้รับเหมาเข้าพื้นที่พบว่าแนวเส้นทางเวนคืนที่ดินนั้นไม่เหมาะสมในการถมดินเพราะไม่คุ้มค่าทำให้มีการปรับแบบเป็นสะพานยกระดับ “การปรับแบบกว่า 10 สัญญา นั้น ทำให้เราต้องของบประมาณเพิ่ม โดยจะใช้งบประมาณเผื่อเหลือเผื่อขาด เนื่องจากที่ผ่านมาเราได้ประมูลงานต่ำกว่าราคากลาง ราว 50,000 ล้านบาท ทำให้เรามีงบประมาณไม่เกินกรอบที่กำหนดไว้ ราว 10,000 ล้านบาท ส่วนวงเงินงบประมาณที่ขอเพิ่มจำนวนเท่าไรนั้น ยังสรุปไม่ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับแบบและศึกษารายละเอียดข้อเท็จจริงร่วมกับนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง”
ขณะเดียวกันด้านงานก่อสร้างดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 17 สัญญา พร้อมส่งมอบพื้นที่ให้ระบบโอแอนด์เอ็มไปดำเนินการต่อ ส่วนสัญญาที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ราว 13 สัญญา สามารถดำเนินการต่อได้ เนื่องจากไม่ได้มีการปรับแบบเพิ่มเติม ขณะที่สัญญาที่ถูกปรับแบบกว่า 10 กว่าสัญญา เข้าขั้นวิกฤตจำเป็นต้องปรับแบบเพื่อดำเนินการได้ทันก่อนเปิดให้บริการภายในปี 2566
โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา หรือทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข M6 เป็นหนึ่งโครงการสําคัญที่มีความจําเป็นเร่งด่วน โดยได้รับการบรรจุในแผนมาตรการเร่งรัดการลงทุน Action Plan ของกระทรวงคมนาคม และมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) ของกระทรวงการคลัง เพื่อเร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
- ผ่าน 3 จังหวัดได้แก่ พระนครศรีอยุธยา จังหวัดสระบุรี และจังหวัดนครราชสีมา
- ระยะทางรวม 196 กม.
- มูลค่าโครงการ 84,600 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 77,970 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินอีก 6,630 ล้านบาท
- แบ่งสัญญาการก่อสร้างออกเป็น 40 สัญญา เพื่อการก่อสร้างที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ใช้งบประมานปี 2559 จำนวน 25 สัญญา
- มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 9 แห่ง พร้อมจุดบริการทางหลวง 8 แห่งตลอดเส้นทาง
- เริ่มก่อสร้าง พ.ศ. 2559
- สัญญาเดิมแล้วเสร็จปี 2562 เปิดใช้งานปี 2563
ขอบคุณ ฐานเศรษฐกิจ