ขนส่งฯ ลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ถูกกว่าเครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง
กรมการขนส่งทางบก จัดให้สำหรับนโยบายจูงใจประชาชน สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ลดภาษีประจำปีถูกกว่าเครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง
รถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการลดภาษี
รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์บริการธุรกิจ รถยนต์บริการทัศนาจร รถยนต์บริการให้เช่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้าง ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 15 กิโลวัตต์ และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง
รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนแบบพิเศษที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 100 กิโลวัตต์ โดยจะต้องติดเครื่องหมาย “e” หรือมีการกำหนดรหัสหรือรุ่นของผู้ผลิตที่แสดงถึงการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนรถไว้บริเวณท้ายรถอย่างถาวรและสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้างที่มีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าหรือความเร็วสูงสุดไม่เป็นไปตามที่กล่าวมาข้างต้น ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยจะต้องติดเครื่องหมาย “s” ไว้บริเวณท้ายรถอย่างถาวรและสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน
รถยนต์รับจ้างสามล้อและรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์ และวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง
รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 250 วัตต์ และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในขณะที่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 250 วัตต์ แต่ไม่เกิน 4 กิโลวัตต์ และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง
มอเตอร์ไฟฟ้าของรถทุกประเภทข้างต้นจะต้องขับเคลื่อนรถรวมน้ำหนักบรรทุกด้วยความเร็วสูงสุดตามที่กำหนดได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 นาที
รถยนต์ไฟฟ้าเมื่อจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกแล้ว จะเสียภาษีรถประจำปีในอัตราภาษีต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน (รถเก๋ง) ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า จะจัดเก็บภาษีตามน้ำหนัก
- รถเก๋งที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีน้ำหนัก 1,510 กิโลกรัม จะเสียภาษีอัตราคันละ 1,300 บาท (ประมาณ 0.86 บาท)
- รถตู้ รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า จะจัดเก็บภาษีกึ่งหนึ่ง เช่น มอเตอร์ไซค์ ปกติเสีย 100 บาท หากเป็นไฟฟ้าจะเสียเพียง 50 บาท
สำหรับรถยนต์สันดาป มีกำหนดอัตราภาษีปัจจุบัน 2565 แบ่งดังนี้
แบ่งเก็บตาม ซีซี. cc. รถถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน
- 600 ซี.ซี. แรก ซี.ซี. ละ 0.50 บาท
- 601-1,800 ซี.ซี. ซี.ซี. ละ 1.50 บาท
- เกิน 1,800 ซี.ซี. ซี.ซี. ละ 4.00 บาท
หากเป็นรถของนิติบุคคลที่มิได้เป็นผู้ให้เช่าซื้อ ให้จัดเก็บในอัตราสองเท่า นอกจากนี้ หากเป็นรถที่จดทะเบียนมาแล้ว 5 ปี ให้ได้รับการลดหย่อนภาษีประจำปีในปีต่อ ๆ ไป
- ปีที่ 6 ร้อยละ 10
- ปีที่ 7 ร้อยละ 20
- ปีที่ 8 ร้อยละ 30
- ปีที่ 9 ร้อยละ 40
- ปีที่ 10 และปีต่อ ๆ ไป ร้อยละ 50
จัดเก็บเป็นรายคัน
- รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล คันละ 100 บาท
- รถจักรยานยนต์สาธารณะ คันละ 100 บาท
- รถพ่วงของรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล คันละ 50 บาท
- รถพ่วงนอกจากข้อ 2.3 คันละ 100 บาท
- รถบดถนน คันละ 200 บาท
- รถแทรกเตอร์ที่ใช้ในการเกษตร คันละ 50 บาท
เก็บภาษีตามน้ำหนัก
น้ำหนัก (กิโลกรัม) | รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน | รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัดรถยนต์บริการ | รถยนต์รับจ้าง | รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลรถลากจูงรถแทรกเตอร์ที่มิได้ใช้ในการเกษตร |
---|---|---|---|---|
ไม่เกิน 500 | 150 | 150 | 185 | 300 |
501-750 | 300 | 750 | 310 | 450 |
751-1,000 | 450 | 1,050 | 450 | 600 |
1,001-1,250 | 800 | 1,350 | 560 | 750 |
1,251-1,500 | 1,000 | 1,650 | 685 | 900 |
1,501-1,750 | 1,300 | 2,100 | 875 | 875 |
1,751-2,000 | 1,600 | 2,550 | 1,060 | 1,350 |
2,001-2,500 | 1,900 | 3,000 | 1,250 | 1,650 |
2,501-3,000 | 2,200 | 3,450 | 1,435 | 1,950 |
3,001-3,500 | 2,400 | 3,900 | 1,625 | 2,250 |
3,501-4,000 | 2,600 | 4,350 | 1,810 | 2,550 |
4,001-4,500 | 2,800 | 4,800 | 2,000 | 2,850 |
4,501-5,000 | 3,000 | 5,250 | 2,185 | 3,150 |
5,001-6,000 | 3,200 | 5,700 | 2,375 | 3,450 |
6,001-7,000 | 3,400 | 6,150 | 2,560 | 3,750 |
7,001 ขึ้นไป | 3,600 | 3,600 | 2,750 | 4,050 |
ประเภทรถที่สามารถต่อภาษีได้
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน
- รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 7 ปี
- มอเตอร์ไซค์อายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันจดทะเบียนครั้งแรก
เอกสารและหลักฐานที่ประกอบการยื่นเสียภาษี
- สมุดคู่มือจดทะเบียนรถตัวจริงหรือสำเนา (ถ่ายเป็นไฟล์รูป)
- หลักฐานการเอาประกันภัยตาม พ.ร.บ (ถ่ายเป็นไฟล์รูป)
- บัตรประชาชนตัวจริงเจ้าของรถ (ถ่ายเป็นไฟล์รูป)