MAZDA ไทยเผยยอดขายรถยนต์ปี 2565 รวม 31,638 คัน
กรุงเทพฯ, ประเทศไทย – 11 มกราคม 2566 – มาสด้าประกาศผลการดำเนินธุรกิจประจำปี 2565 ประสบความสำเร็จตามคาดการณ์ แม้ประสบกับปัจจัยภายในและภายนอกมากระทบรอบด้าน ด้วยความแข็งแกร่งขององค์กรและความเข้มแข็งของดีลเลอร์ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์มาสด้าพุ่งเกือบ 32,000 คัน โดยเฉพาะมาสด้า2 ยังคงร้อนแรงทำสถิติใหม่ขึ้นครองอันดับ 3 ตลาดรถเล็กบีคาร์รวมอีโคคาร์ ทำให้ยอดขายสะสมตลาดรถยนต์นั่งมาสด้าขึ้นครองบัลลังก์อันดับสามอย่างถาวร ส่วนรถอเนกประสงค์ตระกูล CX-Series ทั้ง 4 รุ่น สามารถสร้างยอดขายต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ ครองอันดับ 4 ตลาดเอสยูวีด้วยยอดขายกว่า 12,000 คัน ส่วนปีนี้ยังรุกตลาดหนักเช่นทุกปี เตรียมส่งรถยนต์รุ่นใหม่ลงตลาดตลอดทั้งปี โดยเฉพาะการเอาใจใส่ดูแลลูกค้าและเดินหน้ายกระดับความพึงพอใจของลูกค้าผ่าน Retention Business Model ส่งมอบประสบการณ์ที่เป็นเลิศให้กับลูกค้าในระยะยาว ตั้งเป้ายอดขาย 35,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นอีก 10%
ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทยปี 2565 ที่ผ่านมาถือว่าปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วง 2 ปีก่อนหน้า เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวจากการบริโภคของภาคเอกชน โดยมีปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ จึงทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และช่วยผลักดันให้ธุรกิจต่างๆ เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่เริ่มกลับมา อีกทั้งยังได้ปัจจัยหนุนจากการเข้ามาทำตลาดของแบรนด์ใหม่ๆ โดยเฉพาะแบรนด์จีน รวมถึงการจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการตลาดจากค่ายต่างๆ จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในปี 2565 เติบโตเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 12% จากปีก่อนหน้า โดยมียอดขายสะสมประมาณ 850,000 คัน (ตัวเลขประมาณการณ์) ซึ่งเป็นจำนวนใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี
มร. ทาดาชิ มิอุระ ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า วันนี้มาสด้าประกาศเดินหน้าอย่างเต็มรูปแบบตามแผนพัฒนาธุรกิจระยะกลาง (Mid-Term Plan) เพื่อยกระดับคุณค่าของแบรนด์มาสด้าในประเทศไทยผ่านโมเดลธุรกิจที่เราเรียกว่า “Retention Business Model” โดยให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าของแบรนด์ Brand Value Management คือการสร้างความผูกพันกับลูกค้าในระยะยาว Customer Retention Business ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าด้วยบริการหลังการขายที่ดีที่สุด และสร้างความผูกพันระหว่างลูกค้ากับแบรนด์มาสด้า All for Customers เพื่อปรับแผนให้ธุรกิจเกิดการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและเกิดความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักสำคัญที่มาสด้าจะยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อกำหนดเป็นกลยุทธ์ต่อจากนี้เป็นต้นไป และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไป ผู้บริหารจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมา แต่นโยบายนี้จะยังคงอยู่ และไม่มีวัน “เปลี่ยนแปลง”
สำหรับมาสด้า แม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะตกอยู่ท่ามกลางสงครามการแข่งขันที่ดุเดือด และประสบกับปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิตมาตั้งแต่ต้นปี แต่ยังสามารถประคับประคองยอดขายได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะรถยนต์นั่งมาสด้า2 ที่ยังคงได้รับความนิยมจากลูกค้าด้วยการสร้างสถิติยอดขายอันดับ 3 ของตลาดบีคาร์รวมอีโคคาร์ ด้วยยอดขายสูงถึง 16,249 คัน และผลักดันให้มาสด้าสามารถครองตำแหน่งยอดขายอันดับ 3 ในตลาดรถยนต์นั่งได้อย่างยาวนานเกินครึ่งทศวรรษ ด้วยจำนวน 17,810 คัน นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบยอดขายทั้งปีของตลาดรถอเนกประสงค์เอสยูวีแล้ว มาสด้า CX-Series ยังสามารถสร้างยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำที่จำนวน 12,322 คัน อยู่อันดับที่สี่ของเซ็กเมนต์นี้ ส่งผลทำให้ปี 2565 ที่ผ่านมา มาสด้ามียอดขายรวมอยู่ที่ 31,638 คัน ยังคงครองความนิยมด้วยการเป็นแบรนด์ยอดขายอันดับ 6 ของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย
“ปัจจุบัน มาสด้ามีรถที่วางจำหน่ายในประเทศไทยรวมทั้งหมด 8 รุ่น โดยรุ่นที่ได้รับความนิยมสูงสุดในกลุ่มรถยนต์นั่งยังคงเป็นมาสด้า2 ในขณะที่มาสด้า cx-30 คือรุ่นที่มาแรงที่สุดในกลุ่มรถครอสโอเวอร์เอสยูวี และเมื่อพิจารณายอดขายของปี 2565 เป็นรายรุ่นแล้วสามารถแบ่งออกเป็นรถยนต์นั่งมาสด้า2 จำนวน 16,249 คัน มาสด้า3 จำนวน 1,553 คัน สปอร์ตเปิดประทุนมาสด้า MX-5 จำนวน 8 คัน ในขณะที่รถครอสโอเวอร์เอสยูวีมาสด้า CX-30 มียอดขายทั้งหมด 6,092 คัน ตามมาด้วยมาสด้า CX-3 จำนวน 4,249 คัน มาสด้า CX-8 จำนวน 1,157 คัน และมาสด้า CX-5 จำนวน 824 คัน นอกจากนี้ รถปิกอัพ บีที-50 มียอดขายอีกจำนวน 1,506 คัน โดยตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จอีกขั้นของมาสด้า ซึ่งเราขอขอบคุณลูกค้าที่ไว้วางใจและเลือกรถยนต์มาสด้าให้เป็นยานพาหนะคู่ใจในทุกการเดินทาง” มร. ทาดาชิ มิอุระ กล่าวเพิ่มเติม
พร้อมกันนี้ มร. ทาดาชิ มิอุระ ยังได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ว่า “สำหรับในปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่จะไม่ได้หวือหวามากนักเนื่องจากยังมีปัจจัยบวกและปัจจัยลบรอบด้านที่ยังคงต้องจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ในต่างประเทศที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก อาทิ ปัญหาเรื่องราคาและการขาดแคลนพลังงานในยุโรป ความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน นโยบายทางเงินต่างๆ สถานการณ์เงินเฟ้อที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์โควิดในประเทศจีนและความเสี่ยงจากการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ทั้งนี้แล้ว ในส่วนของประเทศไทย ก็ยังพอมีปัจจัยบวกสนับสนุน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคของเอกชน ที่ยังคงเป็นแรงหนุนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจากช่วงกลางปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าในปีนี้จะได้รับแรงสนับสนุนมากยิ่งขึ้นจากนักท่องเที่ยวชาวจีน เนื่องจากจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการเรื่องโควิด ซึ่งเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศไทยลงได้”
มร. ทาดาชิ มิอุระ ยังแสดงวิสัยทัศน์เพิ่มเติมเกี่ยวกับทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2566 ว่า “ในปีนี้คาดว่าตลาดรถยนต์จะมีปริมาณการขายใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะมีหลายปัจจัยเข้ามาสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศมากกว่าปีที่ผ่านมา อาทิ ธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มเปิดรับชาวต่างชาติมากยิ่งขึ้น ภาคการเกษตรเติบโตอย่างต่อเนื่อง การบริโภคของประชาชนเริ่มกลับมา รวมถึงปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิตเริ่มคลี่คลายลง แต่ทั้งนี้แล้วก็ยังคงต้องจับตามองเรื่องประเด็นความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน ความขัดแย้งในยุโรป ปัญหาด้านพลังงาน ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ระบบขนส่งหรือโลจิสติกส์ ล้วนส่งผลกระทบต่อการนำเข้าและส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงประเด็นเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นจึงอาจทำให้กำลังซื้อชะลอตัว และเชื่อว่าในปี 2566 ตลาดจะมีการแข่งขันกันรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาทำตลาด แต่ทั้งนี้โดยรวมแล้วคาดว่าตลาดรถยนต์จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา หรืออยู่ที่ประมาณ 850,000 – 870,000 คัน แต่สำหรับมาสด้าเรายังคงมั่นใจอย่างยิ่งว่าปีนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 10% หรือมีตัวเลขยอดขายรวมอยู่ที่ประมาณ 35,000 คัน”
นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สำหรับแผนการตลาดในปี 2566 มาสด้ายังคงมุ่งมั่นเดินหน้าตามแผนงานระยะกลาง (Mid-Term Plan) ผ่าน Retention Business Model ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าแบรนด์ (Brand Value Management) ด้วยการยกระดับประสบการณ์ลูกค้าในทุก Touchpoints เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าตลอดระยะเวลาที่ครอบครองรถยนต์มาสด้า และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับแบรนด์มาสด้าในประเทศไทย โดยกลยุทธ์ด้านต่างๆ สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
กลยุทธ์ด้านการตลาด: เสริมสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์มาสด้าด้วยการนำเครื่องมือทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้สื่อสารกับลูกค้าและแฟนมาสด้า แบบ One-to-One Communication รวมถึงการนำฐานข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านระบบ Global One Customer Data Management System ควบคู่ไปกับการสร้างประสบการณ์และความพึงพอใจของลูกค้าในทุก Touchpoints
กลยุทธ์ด้านการขาย: วางโยบายด้านการขายที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคาและสร้างความพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า ควบคู่กับเพิ่มจำนวนลูกค้าที่ชื่นชอบในแบรนด์และผลักดันให้เกิดการซื้อซ้ำมากยิ่งขึ้นด้วยธุรกิจมือสองคุณภาพเหนือระดับ หรือ Mazda CPO เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าที่มองหารถยนต์มือสองคุณภาพดีที่ผ่านการรับคุณภาพโดยมาสด้า ตลอดจนถึงสร้างความยั่งยืนให้กับแบรนด์มาสด้าในประเทศไทย
กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์: นำปรัชญาของการพัฒนาโดยเน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-Centricity Philosophy) มาใช้พัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของมาสด้าให้ดียิ่งขึ้น เพื่อส่งมอบประสบการณ์ความสุขและความสนุกสนานในการขับขี่ให้กับลูกค้าผ่านการเป็นเจ้าของรถยนต์ ควบคู่กับมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยวางแผนปรับโฉมผลิตภัณฑ์และเปิดตัวสู่ตลาดในทุกไตรมาสของปี 2566 แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้เตรียมความพร้อมเพื่อเดินหน้าตามพันธกิจสู่ความยั่งยืนภายในปี 2573 หรือ Sustainable Zoom-Zoom 2030 ด้วยการวางรากฐานสู่การนำเสนอรูปแบบพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้สถานการณ์และกรอบเวลาที่เหมาะสม เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2593
กลยุทธ์ด้านการบริการหลังการขายและนโยบายเกี่ยวกับผู้จำหน่าย: ร่วมมือกับผู้จำหน่ายทั่วประเทศในการยกระดับประสบการณ์ลูกค้าทั้งด้านการขายและการบริการหลังการขาย ผ่านทุกวิถีทาง All for Customers เพื่อส่งมอบความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า และมุ่งดูแลลูกค้าในระยะยาวด้วยโปรแกรมบริการหลังการขายที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ควบคู่กับการเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์และทำงานร่วมกันกับผู้จำหน่าย ตามแนวทาง One Mazda เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนร่วมกัน
“ทั้งหมดนี้คือผลการดำเนินงานของมาสด้าในปี 2565 ที่ผ่านมา และแนวทางการดำเนินธุรกิจในปี 2566 เรามุ่งมั่นที่จะมอบช่วงเวลาแห่งความสุขในชีวิตให้กับลูกค้า พันธมิตร และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างแบรนด์มาสด้าให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยียานยนต์ที่มอบความสะดวกสบายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามวิสัยทัศน์ Sustainable Zoom-Zoom 2030 เพื่อโลก เพื่อสังคม และเพื่อผู้คน ที่ยั่งยืนตลอดไป ” นายธีร์ กล่าวเพิ่มเติม
สรุปยอดจำหน่ายรถยนต์มาสด้า ประจำปี 2565 เปรียบเทียบกับปี 2564
ข้อมูลการขายรถ | มกราคม – ธันวาคม 2565 | มกราคม – ธันวาคม 2564 | % เปลี่ยนแปลง |
มาสด้า2 | 16,249 | 17,814 | – 8.78 |
มาสด้า3 | 1,553 | 1,982 | – 21.64 |
มาสด้า CX-3 | 4,249 | 4,743 | – 10.41 |
มาสด้า CX-30 | 6,092 | 7,497 | – 18.74 |
มาสด้า CX-5 | 824 | 930 | – 11.39 |
มาสด้า CX-8 | 1,157 | 1,051 | + 10.08 |
มาสด้า BT-50 | 1,506 | 1,363 | + 10.49 |
มาสด้า MX-5 | 8 | 4 | + 100.00 |
ยอดรวม | 31,638 | 35,384 | – 10.59 |