ประเทศไทย พร้อมเริ่มใช้มาตรฐานไอเสีย EURO 5 ในปีหน้า หลังจากใช้ EURO 4 กว่า 10 ปี
สมอ. เดินหน้าบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 และยูโร 6 นัดผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยกว่า 20 ราย แจงแผนการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 เริ่ม 1 มกราคม 2024 และยูโร 6 เริ่ม 1 มกราคม 2026 ควบคุมสารมลพิษจากรถยนต์ขนาดเล็ก รถกระบะ รถบัส และรถบรรทุก ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซล ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน
นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 โดยให้ทบทวนมติเดิมในเรื่องวันบังคับใช้ยูโร 5 จากเดิมภายในปี 2021 เป็น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2024 แทน และให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการกำหนดแผนเพื่อ บังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 สำหรับรถยนต์ใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศในระยะยาว กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มอบหมายให้ สมอ. จัดทำแผนการบังคับใช้มาตรฐานเพื่อให้ผู้ผลิตรถยนต์เตรียมความพร้อมและวางแผนการผลิตรถยนต์ ตามกรอบเวลาที่กำหนดได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกที่ได้มีการพัฒนาเครื่องยนต์ให้ปล่อยมลพิษออกมาน้อยที่สุดโดยปัจจุบันสหภาพยุโรปได้ประกาศบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 แล้ว
ในเรื่องดังกล่าว สมอ. ได้จัดประชุมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2023 ที่ผ่านมา เพื่อประชุมชี้แจงแผนการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 และยูโร 6 แก่ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย นำโดยนายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล และบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของไทย จำนวน 25 ราย เช่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด บริษัท เมอร์เซเดสเบนซ์ ประเทศไทย บริษัท วอลโล่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ตรีเพชร อีซูซุ เซลส์ จำกัด บริษัท ฮีโน่ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย จำกัด บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย จำกัด และบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นต้น เพื่อชี้แจงแผนการบังคับใช้มาตรฐานควบคุมสารมลพิษจากรถยนต์ สำหรับรถยนต์ขนาดเล็ก รถกระบะ รถบัส และรถบรรทุก ทั้งเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล โดยจะมีผลบังคับใช้ ดังนี้
“การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยพัฒนาไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน โดยเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ควบคู่กับการรักษาความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรฐานยูโร 5 แล้ว จำนวน 8 ราย ก็ขอให้ผู้ประกอบการมั่นใจว่า สมอ. สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ทันกำหนดวันที่มาตรฐานมีผลบังคับใช้อย่างแน่นอน” เลขาธิการ สมอ. กล่าว
สำหรับปัจจุบันในประเทศไทยมีการบังคับใช้ มาตรฐานยูโร 4 ที่มีการบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้น สำหรับยูโร 4 ค่ากำหนดปริมาณการปล่อยมลพิษที่จะต้องไม่เกินค่าดังนี้
- คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) ต้องไม่เกิน 1 กรัม/กม.
- สารไฮโดรคาร์บอน (HC) ต้องไม่เกิน 0.1 กรัม/กม.
- สารไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ต้องไม่เกิน 0.08 กรัม/กม.
- สารมลพิษอนุภาคและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) ต้องไม่เกิน – กรัม/กม.
เครื่องยนต์ดีเซลยูโร 4
- คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) ต้องไม่เกิน 0.5 กรัม/กม.
- สารไฮโดรคาร์บอนและ สารไนโตรเจนออกไซด์ (HC+NOx) ต้องไม่เกิน 0.3 กรัม/กม.
- สารไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ต้องไม่เกิน 0.25 กรัม/กม.
- สารมลพิษอนุภาคและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) ต้องไม่เกิน 0.025 กรัม/กม.
มาตรฐานยูโร 5 ที่จะมีการบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2024
- คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) ต้องไม่เกิน 1 กรัม/กม.
- สารไฮโดรคาร์บอน (HC) ต้องไม่เกิน 0.1 กรัม/กม.
- สารไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ต้องไม่เกิน 0.06 กรัม/กม.
- สารมลพิษอนุภาคและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) ต้องไม่เกิน 0.005 กรัม/กม.
เครื่องยนต์ดีเซลยูโร 5
- คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) ต้องไม่เกิน 0.5 กรัม/กม.
- สารไฮโดรคาร์บอนและ สารไนโตรเจนออกไซด์ (HC+NOx) ต้องไม่เกิน 0.23 กรัม/กม.
- สารไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ต้องไม่เกิน 0.18 กรัม/กม.
- สารมลพิษอนุภาคและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) ต้องไม่เกิน 0.005 กรัม/กม.
มาตรฐานยูโร 5 (EURO 5) เพิ่มความเข้มงวดของการปล่อยฝุ่นละอองจากเครื่องยนต์ดีเซลเป็นอย่างมาก โดยรถยนต์ดีเซลทุกคันต้องติดตั้งตัวกรองฝุ่นละออง ส่วนข้อจำกัด NOx ก็เข้มงวดมากขึ้นเช่นกัน (โดยต้องลดลง 28% เมื่อเทียบกับ EURO 4)