Advertisement

Advertisement

BOI ไฟเขียว สนับสนุนกิจการยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ครอบคลุมแบตเตอรี่ ยกเว้นภาษี 3 ปี

BOI ไฟเขียว สนับสนุนกิจการยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ครอบคลุมแบตเตอรี่ ยกเว้นภาษี 3 ปี
Spread the love

Advertisement

Advertisement

 

บอร์ดบีโอไอไฟเขียวมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ หนุนผู้ผลิตเพิ่มประสิทธิภาพและเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมใหม่ เปิดส่งเสริมกิจการจัดการแบตเตอรี่ครบวงจร ดันไทยฮับ EV อนุมัติโครงการลงทุน มูลค่า 57,000 ล้านบาท พร้อมอนุมัติเงินกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วย Startup ไทยก้าวสู่ยูนิคอร์น

ออกมาตรการสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 10 ของโลก โดยรถยนต์และชิ้นส่วนถือเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ที่สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี มีผู้ผลิตที่อยู่ในซัพพลายเชนกว่า 2,300 ราย และมีการจ้างงาน 8 – 9 แสนคน การยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สามารถแข่งขันได้ หรือสามารถขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอากาศยาน เครื่องมือแพทย์ เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในอนาคต

ผู้ประกอบการที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สามารถขอรับการส่งเสริมตามมาตรการดังกล่าว โดยเสนอแผนลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมหรือเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร หรือนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การขอรับรองมาตรฐานในอุตสาหกรรมใหม่ การอบรมบุคลากรด้านเทคโนโลยีหรือหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับอุตสาหกรรม เป็นต้น

  • วงเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท
  • โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน
  • ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับตั้งแต่ได้รับบัตรส่งเสริม โดยต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในสิ้นปี 2568

เปิดประเภทกิจการใหม่รองรับการลงทุนในอนาคตบอร์ดบีโอไอได้อนุมัติเปิดให้การส่งเสริมกิจการสำคัญเพิ่มเติม ได้แก่ ได้แก่ กิจการศูนย์บริการซ่อมแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แล้ว และกิจการนำแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าและ/หรือระบบกักเก็บพลังงานที่ไม่ใช้แล้ว มาจัดชุดใหม่ (Repack) หรือนำมาใช้ใหม่ (Reuse) เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมีระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่แบบครบวงจร ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเนื่องจากแบตเตอรี่เสื่อมสภาพที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และเป็นการส่งเสริมระบบนิเวศของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยให้สมบูรณ์ด้วย

นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไอยังได้เปิดส่งเสริมกิจการ Data Hosting เพื่อรองรับการลงทุนของผู้ให้บริการ Cloud รายใหญ่ที่มุ่งลงทุนในอุปกรณ์ประมวลผลที่ทันสมัย และเพื่อให้เกิดการใช้ Data Center ในไทยได้เต็มประสิทธิภาพ และกิจการสถานกักกันสัตว์ก่อนการส่งออก โดยให้บริการกักกันสัตว์เพื่อตรวจโรคและรับรองตามมาตรฐานการค้าปศุสัตว์ระหว่างประเทศก่อนที่จะทำการส่งออก เพื่อรองรับแนวโน้มการเติบโตตลาดการค้าปศุสัตว์ระหว่างประเทศของไทย

ไฟเขียว 8 โครงการ มูลค่าลงทุน 5.7 หมื่นล้านบาท

บอร์ดบีโอไอได้อนุมัติโครงการลงทุนรวม 8 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 56,947 ล้านบาท โดยเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ทั้งในด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ พลังงานสะอาด กิจการ Data Center กิจการโรงพยาบาล และการขนส่งทางอากาศ ดังนี้

1) โครงการผลิตเอทิลีนชีวภาพ (Bio-Ethylene) ของบริษัท บราสเคม สยาม จำกัด โดยโครงการนี้เป็นการผลิตเคมีภัณฑ์ต้นน้ำสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกจากไบโอเอทานอล ซึ่งผลิตจากวัตถุดิบหมุนเวียนจากผลผลิตทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด เงินลงทุน 19,313 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีกำลังการผลิต 200,000 ตันต่อปี ถือเป็นโรงงานผลิตเอทิลีนชีวภาพแห่งแรกในเอเชีย และเป็นโรงงานแห่งที่สองของโลก รองจากบราซิล

2) โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ ของบริษัท ซุปเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์ยี 8 จำกัด เงินลงทุน 2,855 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี มีกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ โดยบริษัทจะรับขยะมูลฝอยในชุมชนเป็นวัตถุดิบเพื่อนำมาเผาไหม้เป็นเชื้อเพลิง ช่วยจัดการปัญหาขยะในชุมชน

3) โครงการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 21 จำกัด เงินลงทุน 9,396 ล้านบาท ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมของบริษัท 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด จังหวัดปราจีนบุรี โดยเป็นการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากน้ำมันยางดำ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล 130 เมกะวัตต์ และไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล 576 ตัน/ชั่วโมง

4) โครงการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำระบบ Cogeneration ของเครือ SCG เพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มบริษัท SCG Chemicals เงินลงทุน 6,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีกำลังการผลิตไฟฟ้าระบบ Cogeneration 130 เมกะวัตต์ และไอน้ำระบบ Cogeneration 160 ตัน/ชั่วโมง

5) โครงการ Data Center ของบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด เงินลงทุน 3,345 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นโครงการที่ 5 ของบริษัท เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น โดยโครงการนี้เป็นการขยายการลงทุนบนพื้นที่ True IDC East Bangna Campus ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

6) โครงการ Data Center ของบริษัทชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Data Center อันดับต้น ๆ ของโลก เงินลงทุน 7,185 ล้านบาท รองรับ IT Load ขนาด 20 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ

7) โครงการโรงพยาบาล ของบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนลภูเก็ต จำกัด เป็นศูนย์การวินิจฉัยทางการแพทย์ขั้นสูง ในรูปแบบ Boutique Hospital ขนาด 212 เตียง เงินลงทุน 4,960 ล้านบาท รองรับการให้บริการนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับนานาชาติสู่จังหวัดภูเก็ต

8) โครงการขนส่งทางอากาศสำหรับผู้โดยสารทั้งในและต่างประเทศ ของบริษัท ไทย ไลอ้อน เมนทารี จำกัด จำนวน 10 ลำ เงินลงทุน 3,893 ล้านบาท รองรับการเติบโตของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมทั้งสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของประเทศ

“โครงการที่ขอรับการส่งเสริมลงทุนในครั้งนี้ เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งไทยและต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ พลังงานสะอาด กิจการสนับสนุนการท่องเที่ยว การให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพ รวมทั้งธุรกิจ Data Center ขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของ Digital Transformation, Cloud Computing, IoT และเทคโนโลยี AI ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน โครงการลงทุนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ไทยยังเป็นหมุดหมายสำคัญของการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะช่วยยกระดับไปสู่เศรษฐกิจใหม่” นายนฤตม์ กล่าว

บอร์ดเพิ่มขีดฯ สนับสนุน Startup ศักยภาพสูง

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (บอร์ดกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมการลงทุน Startup ที่มีศักยภาพสูง ตั้งแต่ระดับ Pre Series A ถึง Series A ที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยกำหนดวงเงินสนับสนุนตั้งแต่ 20 – 50 ล้านบาท ในรูปแบบ Matching Fund ร่วมกับกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เพื่อสนับสนุน Startup ที่มีศักยภาพของไทยให้สามารถเติบโตไปสู่ระดับยูนิคอร์นได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และผลักดันไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

“บีโอไอให้ความสำคัญกับการสนับสนุน Startup ที่มีศักยภาพผ่านกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยปัจจุบันมีการสนับสนุน Startup ในอุตสาหกรรมเป้าหมายไปแล้วจำนวน 14 ราย สำหรับการปรับปรุงมาตรการในครั้งนี้ จะเป็นการทำงานร่วมกับ Venture Capital ระดับมืออาชีพ เพื่อร่วมกันสนับสนุน Startup ไทยที่มีศักยภาพ ให้มีเงินทุนเพียงพอในการต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ให้ขยายออกไปสู่ตลาดโลก และเพิ่มโอกาสที่จะเติบโตไปสู่ระดับยูนิคอร์นต่อไป” นายนฤตม์ กล่าว

Advertisement

Advertisement

คุณไม่สามารถคัดลอกเนื้อหาของหน้านี้ได้