รัฐบาลไทย อัดงบกว่า 40,000 ล้านบาท หนุนคนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าอีก 3 ปี
รัฐบาลไทยทุ่มงบกว่า 40,000 ล้านบาท จ่อหนุ่นคนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าต่อเนื่องกว่า 3 ปี
นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการดำเนินมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณ 2,900 ล้านบาทเมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้กรมนำไปอุดหนุนผู้ซื้อรถอีวีตามนโยบายดังกล่าว ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างการรอการเบิกจ่ายเงินงบประมาณดังกล่าว คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ราวสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ทางรัฐบาลก็ได้มอบหมายให้กรมกับสภาพัฒน์ไปหารือเกี่ยวกับงบประมาณในอีก 3 ปีถัดไป หรือนับตั้งแต่ปี 2566-2568 ซึ่งนโยบายเบื้องต้นให้ตั้งงบประมาณไว้ประมาณ 40,000 ล้านบาท ตามเงื่อนไขโครงการ
ทั้งนี้ ในส่วนผู้ขอรับสิทธิเพื่อขอรับเงินอุดหนุนตามมาตรการจะต้องดำเนินการ ต้องเป็นบุคคลตามประกาศกรมสรรพสามิตกำหนด เช่น ผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีโรงงานอุตสาหกรรม ผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการและต้องเข้ามาทำข้อตกลงร่วมกับกรมสรรพสามิต เพื่อรับทราบและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ที่กรมสรรพสามิตกำหนด และยอมรับบทลงโทษหากไม่สามารถดำเนินการได้
มาตรการดังกล่าว กำหนด 3 รูปแบบได้แก่
- การส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าชนิดใช้แบตเตอรี่หรือ BEV ภายในประเทศ
- การส่งเสริมการผลิต BEV เพื่อชดเชยการนำเข้า
- การผลิตและการใช้ชิ้นส่วน BEV สำคัญภายในประเทศ
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ต้องผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าในปี 2565-2566 โดยสามารถผลิตรถรุ่นใดก็ได้
- ลดอากรนำเข้าสูงสุด 40 % ระหว่าง 2565 – 2566
- ลดภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2% ระหว่าง 2565 – 2568
- เงินหนุนระหว่างปี 2565 – 2568
- แบตเตอรี่ต่ำกว่า 30kWh ได้เงินหนุน 70,000 บาท
- แบตเตอรี่สูงกว่า 30kWh ได้เงินหนุน 150,000 บาท
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาเกิน 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท
- ลดอากรนำเข้าสูงสุด 20 % ระหว่าง 2565 – 2566
- ลดภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2% ระหว่าง 2565 – 2568
ต้องเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมภายในประเทศ, ผลิตรถยนต์ชดเชยในปี 2567 เท่ากับจำนวนที่นำเข้า CBU ในปี 2565-2566 หากจำเป็นต้องขยายเวลา การผลิตชดเชยได้ถึง 2568 และจะต้องผลิตในอัตราส่วน 1 ต่อ 1.5 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน)
รถจักรยานยนต์
- ราคาขายปลีกไม่เกิน 150,000 บาท รับเงินหนุน 18,000 บาทต่อคันทั้ง CKD และ CBU (ปี 2565-2568)
ต้องเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมภายในประเทศ, ผลิตรถยนต์ชดเชยในปี 2567 เท่ากับจำนวนที่นำเข้า CBU ในปี 2565 – 2566 หากจำเป็นต้องขยายเวลาการผลิตชดเชยได้ถึงปี 2568 โดยจะต้องผลิตในอัตราส่วน 1 ต่อ 1.5 และต้องเลือกผลิตรถยนต์จากรถรุ่นใดรุ่นหนึ่งที่ได้นำเข้ามาในช่วงปี 2565 – 2566 เท่านั้น
รถกระบะ ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท
- ลดภาษีสรรพสามิตเป็น 0% ในปี 2565-2568
- เงินหนุน 150,000 บาท ปี 2565 – 2568 สำหรับกระบะ BEV แบตเตอรี่ขนาดตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป (เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศ เท่านั้น)