เพิ่มความคุ้มครอง “พรบ.รถ” ไม่ปรับเบี้ยเพิ่ม เริ่ม 1 เมษายน 2563
พ.ร.บ. คืออะไร
- พ.ร.บ. คือประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับที่คุ้นตากันในรูปแบบของแผ่นสติ๊กเกอร์สี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ติดอยู่ริมกระจกหน้ารถ ซึ่งพระราชบัญญัติการจราจรออกกฎหมายบังคับให้ผู้ขับขี่ทุกคนทำพ.ร.บ. ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 และต้องต่อใหม่ทุกปี เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยขั้นพื้นฐานของประชาชนบนท้องถนนโดยเฉพาะในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุและคุณเป็นฝ่ายถูกชนและได้รับความเสียหายอย่างหนัก หากไม่ทำ พ.ร.บ. จะไม่สามารถต่อทะเบียนรถได้และมีโทษปรับเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนั้นหากมี พ.ร.บ. แต่ไม่ติดให้เห็นชัดเจนจะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
บอร์ด คปภ. ไฟเขียวเพิ่มมาตรการด้านการประกันภัย รับมือสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ที่มีนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานฯ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการด้านการประกันภัยเพิ่มเติมตามที่สำนักงาน คปภ. เสนอเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด–19) ดังนี้
1. เห็นชอบร่างประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเก็บเบี้ยประกันภัยสำหรับรถยนต์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2563 โดยผ่อนผันให้บริษัทประกันภัยเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยได้ ภายใน 6 เดือน สำหรับรถยนต์นั่งในกลุ่ม 3-5 ที่จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ทุกประเภท ซึ่งจะทำให้บริษัทประกันภัยสามารถอนุญาตให้ผู้เอาประกันภัยผ่อนชำระค่าเบี้ยประกันภัยรถได้
2. เห็นชอบร่างประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดประเภทและชนิดของเงินกองทุน รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณเงินกองทุนของบริษัทประกันชีวิต/บริษัทประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 โดยการกำหนดค่าความเสี่ยงสำหรับการลงทุนในกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของบริษัทประกันภัย ได้แก่ การกำหนดค่าความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยด้านปัจจัยเฉพาะของผู้ออกตราสาร การกำหนดค่าความเสี่ยงด้านเครดิต และยกเว้นมูลค่าเงินลงทุน ของการลงทุนในกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลด
ความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนในส่วนที่เป็นตราสารหนี้ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินไทย
ทั้งนี้ ในส่วนที่อยูในอำนาจของสำนักงาน คปภ. เพื่อรับมือผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าว และเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยของประชาชน สำนักงาน คปภ. ได้ออกมาตรการและแนวทางการปฏิบัติที่สำคัญเพิ่มเติม ดังนี้
1. ผ่อนผันให้หน่วยงานที่ได้รับความเห็นชอบจาก คปภ. จัดอบรมหลักสูตรเพื่อขอต่ออายุใบอนุญาตตัวแทน-นายหน้าประกันภัย แบบสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
2. ให้งดการรับสมัครและการจัดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันภัย ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และสำนักงาน คปภ.ภาค/จังหวัด จำนวน 14 จังหวัด งดดำเนินการดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยให้สิทธิผู้สมัครสอบที่ถูกยกเลิกหรือเลื่อน สามารถสมัครสอบใหม่ได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการสอบครั้งต่อไป ซึ่งผู้ประสงค์เข้าสอบ สามารถติดตามข่าวสารได้จากเว็บไซต์สำนักงาน คปภ. www.oic.or.th หรือ e-mail : exam_int@oic.or.th หรือ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2515-3999 ต่อ 6508 ทั้งนี้เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19
3. ผ่อนผันให้ตัวแทน-นายหน้าประกันภัยที่ใบอนุญาตสิ้นอายุตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 สามารถยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตและชำระค่าธรรมเนียมด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใบอนุญาตจะมีผลอยู่ต่อไป โดยสามารถอบรมและยื่นหนังสือรับรองการอบรมได้ภายหลังจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้หากสำนักงานไม่ได้รับหนังสือรับรองการอบรมภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าใบอนุญาตสิ้นผลบังคับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 นอกจากนี้ยังให้บริการช่องทางการขอรับและขอต่ออายุใบอนุญาตตัวแทนและนายหน้าประกันภัยด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์แทนการยื่นเอกสาร
4. ปรับปรุงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริการต่าง ๆ ของสำนักงาน คปภ. เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยสามารถดำเนินการผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ได้แก่ การรับเรื่องร้องเรียน การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่ยกระดับความรุนแรงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
5. ปรับปรุงแนวปฏิบัติในการยื่นขอรับและขอผ่อนชำระค่าเสียหายเบื้องต้น โดยสามารถดำเนินการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่ยกระดับความรุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้ออกมาตรการและกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงาน ได้แก่
1.ออกมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด -19 โดยกำหนดแนวทางการคัดกรอง กำหนดแนวทางการจัดประชุม/สัมนา หรือกิจกรรมอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ออกมาตรการและกำหนดการดำเนินการกรณีฝ่าฝืนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
2. จัดทำแผนการทดสอบการปฏิบัติงานจากที่บ้าน (Work from home) เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับให้พนักงานปฏิบัติงานจากที่บ้าน (Work from home) และกำหนดให้พนักงานเข้ามาปฏิบัติงานที่สำนักงานเท่าที่จำเป็น
3. เตรียมแผนการใช้จ่ายเงินฉุกเฉินของสำนักงาน คปภ. ประจำปี 2563 เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
4. แต่งตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทประกันภัยมีมาตรการรองรับ และสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์ดังกล่าวให้สอดคล้องกับแผนดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan : BCP) ของบริษัท รวมทั้งมีมาตรการในเชิงป้องกันและรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม
5. จัดตั้งศูนย์อำนวยการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สำนักงาน คปภ. (OIC Response Center -COVID-19) โดยมีหน้าที่กำหนดนโยบายและมาตรการเร่งด่วนต่าง ๆ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานและการบริหารงานของสำนักงาน คปภ. และกำกับดูแล ติดตามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19
“สำนักงาน คปภ. พร้อมที่จะบูรณาการกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนทุกมาตรการด้านการประกันภัย ในการลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด–19 และเพื่อให้ประเทศไทยพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ไปให้ได้ โดยสำนักงาน คปภ. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และดำเนินการในทุกช่องทาง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างเต็มที่” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
PR OIC